ผู้เลี้ยงโล่งอก “กินเจ -ปิดเทอม” ไม่สะเทือน ไข่ไก่คละยังทรงตัว 4 บาท/ฟอง
ผู้เลี้ยงโล่งอก “กินเจ -ปิดเทอม” ไม่สะเทือน ไข่ไก่คละยังทรงตัว 4 บาท/ฟอง ชี้ตลาดส่งออก –โรงงานแปรรูปในประเทศ ยังเติบโตต่อเนื่อง อย่างน้อยอีก 1-2 ปี อานิสงส์ผู้ผลิตไข่โลกได้รับผลกระทบจากโรคระบาด คู่ค้าหันสั่งซื้อไข่ไก่ไทยทดแทน
นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า ได้แจ้งข่าวดีกับสมาชิกถึงเทศกาลกินเจ รวมทั้งปิดเทอมในปี 2567 ว่าสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ซึ่งหลายคนแปลกใจ แม้ที่ผ่านมาการผลิตโดยเฉพาะพ่อแม่พันธ์ุไก่ไข่ มีปัญหาจากปีก่อนซึ่งยังไม่เข้าที่เข้าทางในระบบการผลิตลูกไก่ไข่ เรื่องนี้ทุกฝ่ายทราบดีและมีการเฝ้าระวังโรคระบาดที่สำคัญในหลายพื้นที่ในช่วงการปรับเปลี่ยนฤดูจากร้อนมาฤดูฝน ซึ่งปีนี้ร้อนมากสร้างผลกระทบอย่างหนักในการเลี้ยง รวมถึงปีนี้ฝนก็มามากติดต่อกันนานนับเดือน เป็นอะไรที่คนเลี้ยงไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งสภาพของไก่ก็เช่นกัน ต้องให้เวลาปรับตัวเอง เร็วบ้างช้าบ้าง
“ได้คอยย้ำเตือนเรื่องการเลี้ยงเสมอ ๆ ว่าอย่าได้ประมาท ส่วนเรื่องการตลาดถ้ากินเจและปิดเทอมแล้วยังผ่านไปได้ค่อนข้างดีแบบนี้เชื่อว่าการบริโภคไข่เป็นที่ยอมรับของคนไทยตามคำแนะนำของคนที่เกี่ยวข้องว่า ไข่สามารถทานได้ไม่มีปัญหาเหมือนที่เรากลัวกันเหมือนในอดีต ไข่ไก่จึงเป็นอาหารยอดนิยมที่มีประจำในครัวของคนไทยทุกครัวเรือน และเมื่อ 3 – 4 วันก่อนได้ไปงานวันไข่โลกที่เชียงใหม่ที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ที่นั่นจัดยิ่งใหญ่มากมีกิจกรรมหลากหลายและมีสาระแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายและความเข้าใจและความสำคัญของไข่ทั่วไปโดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียน”
นายมาโนช กล่าวอีกว่า จากที่ได้มีการประชุมสัญจรของสมาคมฯ ในทุกภาค ได้รับแจ้งว่าปีนี้ช่วงกินเจ สถานการณ์ไก่ไข่ได้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จะมีปัญหาบ้างเล็กน้อยในบางพื้นที่ ถ้าภาพหลังกินเจยังปกติจะปรับตัวมาอยู่ ณ จุดเดิม ปัญหาปีนี้มีน้อยเพราะมีส่วนสำคัญจาก กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ ได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว คือการส่งเสริมการส่งออกให้เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งทราบจากรายงานของผู้ส่งออกไข่ไก่ ตลาดต่างประเทศต่างยอมรับมาตรฐานไข่ไก่ไทยตามมาตรการรับรองจากกรมปศุสัตว์เป็นอย่างดี สรุปคือ เรามีการส่งออกไข่ไก่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมจะเร่งส่งออกไปจนถึงปลายปี
สำหรับแรงจูงใจจะได้สนับสนุนจากกองทุนฯ อีกโครงการคือ โรงงานผลิตไข่แปรรูปทั้ง 2 – 3 บริษัทที่รับซื้อก็ทำอย่างต่อเนื่องทำให้ตลาดภายในประเทศเติบโตมาก อีกทั้งตลาดต่างประเทศต่างยอมรับมาตรฐานไข่ไทยมากขึ้นเช่นกัน ประกอบกับในหลายประเทศที่ผลิตไข่ที่ส่งออกต่างได้รับผลกระทบเรื่องโรคระบาด ตามที่มีข่าวเป็นระยะที่ทราบกันอยู่ สรุปคือความต้องการไข่ทั้งไข่สด และไข่แปรรูปส่งออกจะยังมีอนาคตไปอีกอย่างน้อย 1 – 2 ปี อาจมีปัญหาบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติของระบบการค้า แต่ขอให้สมาชิกมีความสามัคคีกันไว้ ติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อไปในทิศทางเดียวกันและมีความมั่นใจในวงการจะผ่านไปด้วยกัน
แหล่งข่าวผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงปัญหาเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันประสบปัญหาเลิกเลี้ยง ในขณะที่บางรายไม่มีเงินซื้อลูกไก่ ส่วนรายที่มีเงินก็ซื้อไก่ได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาคิวที่รอยาวนานขึ้น อยากขอความเห็นใจจากผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ 16 บริษัทที่มีพันธุ์ไก่ขอให้ช่วยดูแลรายย่อยให้สามารถประกอบอาชีพอยู่ได้ อย่าเพิ่งขยายการเลี้ยงมาก