เพิ่มคุณภาพชีวิต คน-ไก่ หนุนการเลี้ยงไก่นอกกรงตับ
การเลี้ยงไก่แบบกรงตับเป็นการทรมานสัตว์ ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดความทารุณต่อสัตว์อุตสาหกรรมอาหารด้วยการหันมาบริโภคไข่ไก่ จากการเลี้ยงแบบอิสระนอกกรงตับ เพื่อผลักดันให้เกิดความตระหนักถึงแหล่งที่มาของอาหาร และจริยธรรมต่อสัตว์อย่างกว้างขวางพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเกษตรกรไทย
จากพฤติกรรมการเลี้ยงไก่เพื่ออุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตไข่ไก่ ด้วยการกักขังไก่ไว้ในกรงตับที่คับแคบตลอดชีวิต จึงมีแนวคิดการสร้างความตระหนักต่อสาธารณะด้วยการไม่สนับสนุนการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่สัตว์ โดยเริ่มจากการจัดเสวนา ‘ต้นทุนของชีวิตในอุตสาหกรรมไข่ไก่’ (Whisper of freedom from egg farm) โดย บริษัท คะตะลิสต์ ร่วมกับ สภาผู้บริโภค ให้เกิดการส่งเสริมการบริโภคไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง (cage free eggs) และให้ผู้บริโภคเลือกบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ถูกเลี้ยงอย่างไม่ทรมาน เพื่อผลักดันให้ประชาชนคนไทยได้บริโภคอาหารที่ดีและยั่งยืน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ณ หอศิลปกรุงเทพฯ โถงชั้นที่ 1
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่สำคัญคือ สิทธิที่จะเลือกบริโภค แต่ในปัจจุบันยังถูกจำกัดทางเลือกในการบริโภคไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง เนื่องจากไข่ไก่ที่บริโภคนั้นมากกว่า 70-80% เป็นไข่ไก่ที่มาจากการเลี้ยงแบบขังกรง และอีกประเด็นที่สำคัญคือ ประเทศไทยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ เอ้กบอร์ด (Egg Board) แต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือเกษตรเป็นไปอย่างจำกัด จึงหวังว่า การริเริ่มครั้งนี้จะทำให้มีโครงสร้างหรือนโยบายที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และสนับสนุนให้มีไข่ไก่ที่มาจากการเลี้ยงแบบปล่อย เพิ่มทางเลือกสำหรับผู้บริโภค รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรมต่อสัตว์
ขณะที่ นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้อำนวยการ บริษัท คะตะลิสต์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับระบบอาหารที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรมต่อสัตว์ ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องมีการเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อให้ทันกระแสที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งนี้การเลี้ยงไก่ไข่โดยไม่ขังกรง นอกจากจะเป็นความรับผิดชอบทางด้านจริยธรรมต่อสัตว์แล้ว ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และทำให้เกิดความยั่งยืนในการบริโภค ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยอีกด้วย
“คะตะลิสต์ สภาผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย ได้สนับสนุนและผลักดันให้มีการยกระดับศักยภาพของผู้ผลิต รวมถึงแวดวงวิชาการ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนและประเทศไทย” นายแพทย์วัชระกล่าว
ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคเป็นผู้แทนของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2565 มีหน้าที่ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน โดยพันธกิจหนึ่งของสภาผู้บริโภคคือการสนับสนุนการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการบริโภคไข่ไก่จากการเลี้ยงไก่แบบไม่ขังกรงถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย และหลักสิทธิผู้บริโภคสากล ที่ระบุว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกซื้อหาสินค้าและบริการ (The right to choose) ที่มีคุณภาพในราคายุติธรรม และสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นและถูกต้อง เพื่อประกอบการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (The right to be informed) ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรมต่อสัตว์ด้วย
รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคจะเดินหน้าผลักดันให้เกิดฉลากไข่ไก่จากการเลี้ยงไก่แบบไม่ขังกรง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งผลักดันให้มีผู้แทนของผู้บริโภคในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ เอ้กบอร์ด (Egg Board) เพื่อให้เกิดนโยบายควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และราคาไข่ไก่ของประเทศ ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
นางไพรัตน์ พรมชน เกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่และผักออร์แกนิก ได้เผยถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง มาจากการที่ได้ไปเยี่ยมน้องชายที่ไก่ไข่แบบกรงตับ และได้เห็นถึงความเป็นอยู่ไก่ไข่ที่ถูกเลี้ยงในกรงตับอย่างแออัด จึงเกิดความสงสาร และได้เริ่มเปลี่ยนแนวคิดน้องชายให้หันมาเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง โดยได้สร้างรูปแบบการเลี้ยงที่เริ่มจากการเลี้ยงไก่ไข่ 500 ตัว แบบไม่ขังกรง และต่อยอดแนวคิดสู่เกษตรรายย่อยอื่น ๆ ให้สามารถสร้างอาชีพได้
ขณะที่ รศ.ดร.จำเริญ เที่ยงธรรม ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ความเข้าใจที่ว่า ‘สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตและความรู้สึกที่ต้องรับการปฏิบัติด้วยความเป็นธรรม’ นั้น เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกยอมรับทั้งในแง่ของข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และในมุมจริยธรรมต่อสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการร่วมหลากหลายสถาบัน องค์กรพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Consortium) และผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานของสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ในการศึกษา การค้นคว้าวิจัย เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม
อีกทั้ง ความร่วมมือระหว่าง คะตะลิสต์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันการศึกษาในแต่ละภูมิภาคเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมสร้างความเข้าใจ พัฒนาศักยภาพ ของบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้เลี้ยงต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงหลักของสวัสดิภาพสัตว์ และสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย อียู อเมริกา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการอย่าง นางรัตนา ปาละพงศ์ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนธุรกิจเบอเกอรี่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สนับสนุนสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นสนับสนุนจากเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงโดยมีสวัสดิภาพสัตว์ ด้วยการมีนโยบายที่จะใช้ไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง 100% ภายในปี 2572 เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพที่นอกจากรสชาติมีความหอมอร่อยมีประโยชน์กับผู้บริโภค แล้วยังมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของเหล่าแม่ไก่อีกด้วย