ผู้เลี้ยงไก่เดือด ! ดัดหลัง 16 บิ๊ก จ่อล้มโควตา เปิดเสรีพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่
“มาโนช” นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ จับโป๊ะ ไข่ไก่ไทยแปลงสัญชาติ สวมรอยดัมพ์ตลาด เล็งดัดหลัง 16 บิ๊ก จ่อล้มโควตา เปิดเสรีพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ขณะค้า โวยโดน 2 เด้ง “ร้านธงฟ้า” ทุบราคาร่วงอีก ด้านตำรวจทางหลวง ถือใบสั่งไล่จับทำการค้าสะดุด “มิสเตอร์ไข่ไก่” งง กังขา มีอำนาจจับ หรือไม่
นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และคณะทำงานร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อประสานงาน วิเคราะห์ และกลั่นกรองงาน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ผ่านแอพพลิเคชันไลน์ว่า วันนี้ (26 พ.ย.66 ) อยากคุยเรื่องผลประโยชน์ เพราะไม่เข้าใครออกใครเลยจริงๆ อยู่ที่ในจิตใจของแต่ละคนจะมีมากมีน้อยต่างกันอย่างไรเท่านั้น ในทางศาสนาพุทธเราจึงมีคำสอนเรื่องการสงบระงับจิตใจฟุ้งซ่านหรือไฝไปในที่ต่ำ คือ ความไม่ดีเข้ามาครอบครองจิตใจ”
“เรื่องหมูเถื่อน” เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความชัดเจนเรื่องผลประโยชน์ที่ต่างตักตวงเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายและศีลธรรม เมื่อคนได้ก็ต้องมีคนเสีย ถ้าดูจากราคาหมูช่วงที่มีการระบาดของโรคที่ทำลายล้างอาชีพคนเลี้ยงหมูจนยากจะกลับมาเลี้ยงใหม่ได้สิ่งที่ต้องรับไว้คือ “หนี้สิน” ที่สุดแล้วต้องตกเป็นของเจ้าหนี้โดยปริยาย อยากถามว่าใครรับผิดชอบคำตอบมากับสายลมคือ ….นี่เป็นกรรมเก่าของคนเลี้ยงหมูหรืออย่างไร แล้วคนที่ยังเลี้ยงกันได้อยู่มียาวิเศษหรืออย่างไรถึงอยู่ได้ ใครมีความรู้ช่วยตอบที
นายมาโนช กล่าวว่า คุยเรื่องหมูอาจมีคนถามเกี่ยวอะไรกับไก่ไข่ก็เพราะเป็นคนอาชีพเกษตรกรด้วยกัน อาจมีมุมมองถึงสภาพปัญหาที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกัน แต่เรื่องผลประโยชน์ ไม่เข้าใครออกใครเลยจริงๆ แล้ววงการ “ไก่ไข่” มีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงที่มีได้มีเสียและรอวันระเบิดออกมาหรือไม่ ต้องช่วยกันคิดบ้างอะไรที่มันผิดปกติ มีการได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงกฎหมายและเรื่องคุณธรรมที่คลอบคลุมทั้งหลักคิดและการปฏิบัติ ถ้าคิดได้ช่วยกันระบายออกมาเจ้าหน้าที่รัฐฯ ที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาดูระเบียบกฎหมายที่ออกมาถูกต้องหรือไม่
“เอื้อให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือไม่ในระยะยาวๆ ถ้าปล่อยให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้นไม่ว่าจะรู้หรือรู้แต่ปล่อยๆไปไม่ทำความจริงให้กระจ่างโดยคิดว่าเรื่องยังมาไม่ถึงหรือปล่อยให้อยู่กันไป ความยุ่งเหยิงและจะเกิดเสียหายในระยะยาว อาจเหมือนเกษตรกรคนเลี้ยงหมูก็ได้แต่ที่จะเหมือนกันอย่างหนึ่งคนเลี้ยงรายเล็กรายน้อยจะหมดไปและจะเหลือเพียงรายใหญ่ๆ คนที่เลี้ยง 300,000 -900,000 ตัว คือคิวถัดไปที่จะหมดในลำดับถัดไป เหตุผลคือ คนมีพันธ์สัตว์จะมีแต้มต่อจนเงียบเชียบ แล้วขยายฟาร์มไม่มีใครควบคุมหรือเข้าถึง”
นายมาโนช กล่าวว่า ทราบหรือไม่ว่าขณะนี้ราคาข้าวโพดหน้าโรงงานเหลือเท่าไร ปัจจุบันราคา 8.50-9.50 บาท/กก.แต่ละพื้นที่ คนที่ไม่มีพันธ์สัตว์ต้องซื้อเหล้าพ่วงเบียร์จะทำอย่างไร น่าจะจัดเสวนาสะสางกันสักที ในขณะที่ทางราชการได้รับการร้องเรียนจากคนปลูกข้าวโพดว่าราคาถูกจนทนไม่ไหวราชการต้องหาวิธีแก้ไขให้ จนทำให้มีการประกันราคาขั้นต่ำให้โรงงานรับซื้ออีกแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนเราจะได้ยิน ข้าวโพดราคา 12.50-13.00 บาท/กก. อยู่เลย
มาโนช กล่าวว่า ต้นทุนอาหารสัตว์แทบทุกชนิดราคาปรับลดลงมาแล้วคนเลี้ยงที่ไม่มีพันธุ์สัตว์ได้ซื้อของถูกลงมาบ้างไหม ส่วนวันสองวันนี้ มีคนนำไข่ประเทศ สปป.ลาวมาเสนอขาย มีการฟันธงให้ฟังว่า เป็นไข่ไทย มาจากรายที่มีพันธ์สัตว์ของตนเองและขยายการเลี้ยงไม่ลืมหูลืมตาจนแบกไม่ไหว
“ขอเตือนว่าอย่าทำอะไรที่ผิดจากมนุษย์ทั่วไปเขาทำกัน แค่ขยายการเลี้ยงที่ราชการหรี่ตาข้างหนึ่งก็เดือดร้อนเรื่องคิวไก่ที่กระจายไปแบบไม่เป็นธรรม ดังนั้นเมื่อคุยเรื่องหมูมาเรื่องไก่ ขอบอกว่าเรื่องเดียวกัน ก้อเรื่อง “ผลประโยชน์” ไม่เข้าใคร..ออกใคร”
ขณะที่ นายสุธาศิน อมฤก (บังจู) นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย และประธานกลุ่มผู้ค้าไข่ไทย กล่าวว่า ถึงเจ้าหน้าตำรวจทางหลวงได้จับผู้ค้าไข่รายย่อยขนย้ายไข่ไปขาย 1,000 – 2,000 ฟอง (40-50 แผง) มีสิทธิ์โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจ จับ ปรับ ได้ เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตค้าซาก (ร.10/1) ประจำรถขนบรรทุกไข่เงื่อนไขการบรรทุกไข่ตั้งแต่ 20,000 ขึ้นไปนั้น
ต่อจากกรณีดังกล่าวนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถาม นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ และ “มิสเตอร์ไข่ไก่” กล่าวว่า การออกใบอนุญาตค้าซาก (ร.10/1) ไม่ได้จำกัดความว่าจะเป็นรายย่อย หรือรายใหญ่ พิจารณาไม่ได้ แต่ จะมีการพิจารณาแค่จำนวนไข่ไก่ที่ขนส่งไม่เกิน 2 หมื่นฟอง จะยึดตรงนี้
“กรมปศุสัตว์ไม่ได้จับ แต่คนที่จับคือตำรวจทางหลวง ผมยืนยันว่าไม่เคยได้แจ้งอะไร จะแจ้งทำไม แล้วตำรวจก็นำไปบังคับกันเอง” นายสัตวแพทย์โสภัชย์ กล่าวย้ำในช่วงท้าย
สถานการณ์ตลาดไข่ไก่ในรอบสัปดาห์ มีสถานการณ์น่าสนใจ จังหวัดเชียงราย งานมหกรรมธงฟ้า เบอร์ 2 ขายกันที่ แผงละ 95 บาท ต้นทุนรับมาเฉียดๆ 120 บาท ขายราคานี้กำไรบาน กรุงเทพ และปริมณฑล เตรียมรับแรงกระแทก จังหวัดอื่นๆก็ไม่น่ารอด ขณะที่ ใบแนะนำราคา 4 บาท/ฟอง
ขณะที่ ชมรมผู้ค้าไข่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุรินทร์ ชินวงศ์พรหม ประธานฯ ได้ออกประกาศ ราคารับซื้อไข่คละที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 3.70 บาท/ฟอง เนื่องด้วยสถานการณ์ไขไก่ ณ ปัจจุบัน ราคาซื้อ-ขาย มีความเหสื่อมล้ำกัน 0.40-0.50 บาท/ฟอง มีผลเรียบร้อยแล้ว
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ได้ออกประกาศแจ้งราคาไข่ไก่แนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์/ฟอง หรือ 6 บาท/แผง (30 ฟอง) จาก 3.80 บาท/ฟอง เป็น 4.00 บาท/ฟอง ปัจจุบันยังยืนอยู่ที่ราคานี้