ทางเลือกป้องกันสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก

ทางเลือกป้องกันสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก

แม้จะไม่ใช่โรคใหม่ แต่ไข้หวัดนกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ โดยพบในนกและสัตว์ปีก มีข้อมูลว่าโรคนี้ได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่ๆในโลกตั้งแต่ปี 2565 ส่งผลให้สัตว์ปีกหลายล้านตัวสูญพันธุ์ ทำให้ราคาไข่และไก่งวงพุ่งสูง ที่น่ากังวลกว่านั้นก็คือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ แม้ว่าสายพันธุ์ปัจจุบันจะไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในมนุษย์ก็ตาม

ล่าสุดมีรายงานจากทีมวิจัยนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ และวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน ในอังกฤษ เผยว่า พบวิธีปกป้องไก่จากการติดเชื้อไข้หวัดนกได้บางส่วน จากการใช้เทคนิคแก้ไขยีนที่เรียกว่าคริสเปอร์ (CRISPR) มาใช้ปรับเปลี่ยนบางส่วนของดีเอ็นเอ (DNA) ที่ทำหน้าที่ผลิตโปรตีน ANP32A ที่อยู่ภายในเซลล์ของไก่ เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่จะแย่งชิงโปรตีน ANP32 ภายในเซลล์ของไก่เพื่อช่วยตัวเองในการขยายพันธุ์

ทีมได้ทดสอบให้ไก่ที่ถูกตัดต่อยีน ANP32A ให้สัมผัสกับไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H9N2-UDL ในปริมาณปกติ พบว่าไก่ 9 ใน 10 ตัวยังคงไม่ติดเชื้อและไม่มีการแพร่กระจายไปยังไก่ตัวอื่น จากนั้นทีมได้นำนกที่ได้รับการแก้ไขยีนไปสัมผัสกับไวรัสไข้หวัดนกในปริมาณที่สูงเกินจริง ซึ่งพบว่านก 5 ใน 10 ตัวมีการติดเชื้อ ทีมวิจัยระบุว่านี่คือก้าวที่สำคัญ เพราะผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขยีนในการป้องกันสัตว์ปีกพวกนี้ได้อยู่บ้าง เพราะปริมาณไวรัสในไก่ที่ถูกตัดต่อยีนและมีการติดเชื้อ พบว่าเชื้ออยู่ต่ำกว่าระดับที่พบโดยทั่วไปเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในไก่ที่ไม่ได้ถูกแก้ไขยีนเป็นอย่างมาก.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

About Author