ผลักดันส่งออกไข่ไก่ไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ผลักดันส่งออกไข่ไก่ไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด กรมปศุสัตว์ผลักดันการส่งออกไข่ไก่สดไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ล่าสุดเปิดตลาดใหม่ คือ ไต้หวัน จุดแข็งของไทยคือมีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกที่มีประสิทธิภาพและเข้มงวดมาโดยตลอด ตลาดต่างประเทศมีความเชื่อมั่นและนำเข้าไข่ไก่จากไทยมากขึ้น

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตไข่ไก่ได้ 43 ล้านฟองต่อวัน ผลผลิตไข่ไก่ที่บริโภคในประเทศประมาณ 41 ล้านฟองต่อวัน หากรวมการส่งออกไข่ไก่ไปสิงคโปร์และฮ่องกง อยู่ราว 42 ล้านฟอง และเปิดตลาดใหม่ คือ ไต้หวัน เพื่อให้เกษตรกรมีตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ไต้หวันมีการบริโภควันละ 20 ล้านฟอง คาดการณ์ว่าจะส่งออกได้วันละ 500,000 ฟอง ภายในสิ้นปี 2566  ทั้งนี้ ปี 2565 ไทยสามารถส่งออกไข่ไก่ได้ 282 ล้านฟอง มูลค่า 1,238 ล้านบาท

“ไทยมีจุดแข็งเรื่องมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกที่มีประสิทธิภาพและเข้มงวด” ส่งผลให้ไม่มีการแพร่ระบาดไข้หวัดนกในประเทศไทยมากกว่า 15 ปี ประเทศคู่ค้ามีความเชื่อมั่นและต้องการนำเข้าไข่ไก่เพิ่มมากขึ้น โดยกรมปศุสัตว์ทำหน้าที่กำกับควบคุมดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) โรงฆ่าและโรงแปรรูปที่มีการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (Good Hygiene Practices: GHPs) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Points: HACCP) สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้าและตามหลักสากล ทั้งนี้พบว่าสถานการณ์จุดเกิดโรคไข้หวัดนกสายพันธ์ุชนิดรุนแรง (HPAI) ในสัตว์ปีกทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกทวีป  สำหรับในทวีปเอเชียที่พบจุดเกิดโรค เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนปาล เป็นต้น

“ราคาไข่ไก่ปรับขึ้น” การปรับขึ้นราคาไข่ไก่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ทั้งค่าพันธุ์สัตว์ ทั้งราคาอาหารสัตว์ ค่าพันธุ์สัตว์ ค่าวัคซีนและยาป้องกันโรค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2565 ผลจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และภัยแล้งจากประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา ที่ไทยนำเข้าอาหารสัตว์ ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อน นอกจากนี้ผลสืบเนื่องจากช่วงวิกฤตโควิดปีก่อนผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องให้เหตุผลว่าปริมาณไข่ขนาดเล็กมีปริมาณลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้าแม่ไก่ได้จากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ไทยไม่สามารถผลิตไก่สาวที่จะเป็นแม่พันธุ์ไข่ขนาดเล็ก จึงเหลือเพียงแม่ไก่แก่ที่มีจำนวนมากและผลิตไข่ขนาดใหญ่ คือ เบอร์ 0 ถึง เบอร์ 1 ซึ่งถือเป็นการอธิบายเห็นสถานการณ์ภาพรวมไข่ไก่ช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้การที่ภาครัฐมีนโยบายผลักดันส่งออกไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น มองว่าแนวโน้มผู้เลี้ยงปรับตัวเพิ่มจำนวนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการส่งออกและที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ ปัจจัยที่ทำให้ราคาไข่ไก่สูงขึ้นยังเป็นผลพวงจากเรื่องราคาอาหารสัตว์และค่าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ

เมื่อย้อนดูผลคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) มีมติเห็นชอบแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS) ปี 2566 ได้แก่ ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) จำนวน 3,870 ตัว และไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 440,000 ตัว โดยมีแนวทางการจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ จำนวน 16 บริษัท โดยใช้โควตาเท่าเดิม ซึ่งเท่ากับ ปี 2565 เป็นการช่วยแก้ปัญหาจำนวนการผลิตไข่ไก่ลดลงในช่วงวิกฤตโควิด โดยมาตรการที่สำคัญเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ คือ มาตรการขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืนกรง ปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสม โดยให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกรายปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัว ขึ้นไป ปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ รวมทั้งมีมาตรการขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์ (PS) และผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ เก็บรวบรวมไข่ไก่เพื่อการส่งออกและปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด เพื่อชดเชยปริมาณการส่งออก เป็นต้น

การบริโภคไข่ไก่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชน ราคาไข่ที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยโดยตรง หวังว่ามาตรการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินอยู่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่และบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน

About Author