แล้งร้อน-ผลผลิตวูบต้นทุนพุ่ง! ไข่ไก่ขอ 4 บาทต่อฟอง
ผู้เลี้ยงตื่น “ประภัตร โพธสุธน”–สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าฯ กว้านหาไข่ไก่ส่งออก เผยอากาศร้อนจัดกระทบผลผลิตลด ขณะแบกต้นทุนค่าน้ำ-ค่าไฟเพิ่ม ชี้ราคาเหมาะสมช่วงแล้ง 4 บาทต่อฟอง ผู้ค้าเผยไข่ไก่เบอร์ 3-4 เหลือคาแผงอื้อ โวยใบเคลื่อนย้ายทุบซ้ำ ฉุดค้าสะดุด อ้างป้องโรค ฟังไม่ขึ้น
หลายประเทศ ณ เวลานี้ ประสบปัญหาไข่ไก่ขาดแคลน และราคาสูงขึ้นมาก จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ อีกทั้งผู้ผลิตบางส่วนในประเทศดังกล่าวเลิกกิจการ เนื่องจากแบกภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่องไม่ไหว ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการส่งออก
นายชัยพร สีถัน อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ปัจจุบันราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 3.60 บาทต่อฟอง มีแนวโน้มที่จะปรับราคาขึ้นเป็น 3.80 บาทต่อฟอง หรือปรับขึ้นอีก 20 สตางค์จากผลพวงการส่งออกไข่ไก่ ล่าสุดเลขาฯของนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้โทรศัพท์มาหาไข่ไก่เพื่อส่งออกต่างประเทศที่มีความต้อการเพิ่มอย่างไรก็ดีมองว่า แม้จะมีการปรับขึ้นราคาไข่ไก่ แต่ก็ยังไม่คุ้มทุนเพราะเวลานี้ราคาอาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์สูงขึ้นมาก ดังนั้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เหมาะสมในช่วงฤดูแล้ง อยู่ที่4 บาทต่อฟอง
ขณะที่เวลานี้จากเข้าสู่ฤดูร้อน มีสภาพอากาศอบอ้าว ส่งผลแม่ไก่มีความความเครียด กินอาหารได้น้อย ส่งผลให้ผลผลิตไข่น้อยลดลงประมาณ 10-15% จากปกติ และอากาศร้อนเช่นนี้ส่วนใหญ่ผลผลิตไข่ไก่ที่ได้จะเป็นไข่ขนาดกลางถึงเล็กประมาณเบอร์ 3-4-5 เท่านั้น จากปกติมีไข่ไก่ 6 ขนาด คือเบอร์ 0 ใหญ่สุด และเบอร์ 5 เล็กสุด กระทบเกษตรกรขายไข่ได้ราคาลดลง สวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จึงขอให้ผู้บริโภคเข้าใจเกษตรกรด้วย
“เวลานี้บางพื้นที่ประสบภัยแล้ง เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์ม ทั้งเพื่อให้แม่ไก่กิน รวมถึงใช้สำหรับฉีดพ่นละอองตามโรงเรือนและบนหลังคาเพื่อลดความร้อนให้แม่ไก่ได้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ส่วนใหญ่เลี้ยงไก่ในโรงเรือนแบบเปิดจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ในการปรับสภาพอากาศในการเลี้ยงไม่ให้ร้อนจัดจนส่งผลกระทบกับตัวสัตว์ ขณะที่การเลี้ยงในโรงเรือนปิดแบบอีแวปก็ต้องเปิดระบบทำความเย็นที่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
สอดคล้องนายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ได้รับซื้อไข่ไก่ส่วนเกินจากคิวไข่ปกติในราคาฟองละ 3.50 บาทไม่จำกัดจำนวน หรือจนกว่าจะหมดระยะเวลาโครงการ ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566
ขณะที่นายสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทยกล่าวถึงสถานการณ์ไข่ไก่ในตลาดเวลานี้ไม่ขาดตลาด สาเหตุจากการค้าขายที่ไม่ดี และซบเซาขณะที่ทางสมาคมฯ ไม่เห็นด้วยในการปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มล่าสุดตามประกาศของ 4 สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เป็น 3.60 บาทต่อฟอง และคาดแนวโน้มราคาอาจจะมีการปรับใหม่อีก และที่มีการกว้านซื้อไข่ไก่ส่วนเกิน ก็ไม่มีผล แล้วสาเหตุที่ซื้อได้ไม่ครบ ทั้งที่ทุกคนอยากขายแต่เกิดจากไม่มั่นใจในเรื่องของการจ่ายเงินว่าจะได้รับเมื่อไร แล้วช่วงนี้มีไข่เบอร์ 34 และ 5 จำนวนไข่มาก ทำให้ขายยาก
ส่วนในเรื่องใบเคลื่อนย้ายไข่ไก่เพื่อการบริโภคที่มีการหารือกับกรมปศุสัตว์(28 มี.ค.66) นั้นทางผู้ค้าสามารถทำได้และยินดีทำหากเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และสามารถตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ฟาร์มจนถึงแผงไข่ไก่ในตลาดสด แต่ถ้าหากพิสูจน์มาแล้วไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จริงขอให้ชะลอการบังคับชั่วคราวแล้วหาทางออก หรือวิธีการใหม่แก้ปัญหาร่วมกัน
โดยเหตุผลที่นำมาใช้กรมปศุสัตว์ชี้แจงว่าเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก ตรงนี้เป็นเรื่องที่แปลก เพราะกรมฯระบุว่าไทยมีฟาร์มมาตรฐานเต็มไปหมด ดังนั้นโรคควรสิ้นสุดตั้งแต่ที่ฟาร์มแล้วหรือไม่ ส่วนเหตุผลเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ไข่ไก่ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อไปรวมที่แผงไข่ในตลาด จะรู้ได้อย่างไรว่าไข่ไก่มาจากฟาร์มไหน เพราะปะปนกันไปหมดตั้งแต่คัดแยกไข่ไก่แล้ว
ด้านนางจุฑามาศ บุญแสง ประธานสหกรณ์กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย กล่าวผ่านงานประชุมหารือการเคลื่อนย้ายไข่เพื่อการบริโภค ตอนหนึ่งว่า การใช้ใบเคลื่อนย้ายไข่ไก่เพื่อบริโภค เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ถามว่าเวลานี้ไทยมีโรคระบาดสัตว์หรือไม่และใครได้ประโยชน์จากใบเคลื่อนย้ายบ้าง ซึ่งมีข้อกล่าวหาของสมาคมการค้าฯ ที่คัดค้านให้ชะลอการบังคับใช้ใบเคลื่อนย้าย อ้างเหตุมีการเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่รัฐดังนั้นการกำหนดกฎเกณฑ์อะไรออกมาควรฟังความให้รอบด้าน เพราะแต่ละฝ่ายมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้าไม่เท่ากัน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,875 วันที่ 2-5 เมษายน 2566