หมู-ไก่-ไข่ ชะตากรรมเดียวกัน ต้นทุนการผลิตสูง ร้องรัฐช่วยด่วน
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ผู้เลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงไก่ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเร่งด่วน เรื่อง วัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้ต้นทุนกับราคาที่ขายได้ พอมีกำไรเลี้ยงครอบครัว ควบคู่กับการปราบปรามหมูเถื่อน
โดย : สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ
สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ และจะฉลองครบรอบ 1 ปี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งสงครามส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ส่งออกธัญพืชและวัตถุดิบอาหารสัตว์รวมกันติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันระดับต้นๆ ของโลก
ขณะที่วันนี้ วิกฤตโควิด-19 อ่อนแรง เพราะโลกเข้มแข็งขึ้นด้วยวัคซีนป้องกันเชื้อโรคที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับนโยบายป้องกันประเทศและป้องกันส่วนบุคคลดีขึ้น ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญทางเศรษฐกิจและความต้องการทั่วโลก แต่ธัญพืชและวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไซโลเก็บผลผลิตและเส้นทางขนส่งถูกทำลาย ราคาในตลาดโลกจึงยังคงยืนแข็งในระดับสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตภาคปศุสัตว์ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวแต่เผชิญชะตากรรมเดียวกันทั่วโลก
สงครามยังกระทบต่อราคาอาหารรับรู้ได้ทั่วโลก เช่น ไข่ไก่ สหรัฐแพงจนผู้บริโภคบ่น สาเหตุจากไข้หวัดนกและต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่สูงขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ ค่าแรงงาน ค่าบริหารจัดการฟาร์ม ขณะที่ มาเลเซีย ต้องสั่งซื้อไข่ไก่ล็อตใหญ่ที่สุด 50 ล้านฟอง จากอินเดีย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนในประเทศ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรับราคาสูงขึ้น จากผลกระทบของสงครามยูเครน กดดันให้ผู้เลี้ยงรายเล็กต้องลดปริมาณการเลี้ยงลง ผู้เลี้ยงไก่ไข่ไทยก็ไม่น้อยหน้าราคาอาหารไก่ปรับขึ้นประมาณ 3-4 บาทต่อกิโลกรัม ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 3.90-4.00 บาทต่อฟอง แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้ปัจจุบัน คือ 3.60 บาทต่อฟอง
สำหรับภาคการเลี้ยงสัตว์ของไทย โดยเฉพาะ หมู ไก่ ไข่ ซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยนิยมบริโภคและเข้าถึงง่ายที่สุด ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ถ้วนหน้า จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในสูตรอาหารสัตว์ราคาทะยานสูงสุด จากก่อนส่งครามไม่เกิน 10 บาทต่อกิโลกรัม ระหว่างสงครามปรับขึ้นไปมากกว่า 13.50 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงขณะนี้ยังคงยืนสูงที่ 13.40-13.45 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงถั่วเหลือง ข้าวสาลี ขยับขึ้นตามกัน โดยเฉพาะอาหารของหมู มีข้าวโพดเป็นส่วนผสมสูงถึง 60-70% จึงกลายเป็นต้นทุนสำคัญ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ ก็อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้
สมาคมผู้ผลิตปศุสัตว์ต่างๆ ทั้ง หมู ไก่ ไข่ ร้องเป็นเสียงเดียวกันให้รัฐบาลหาทางแก้ปัญหาเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์เร่งด่วน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป้าหมาย คือ ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรอยู่ได้-ผู้บริโภคซื้อคล่อง เนื่องจากปัจจุบันมาตรการด้านภาษีและโควต้านำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของภาครัฐ ยังเป็นอุปสรรคและต้นทุนสำคัญในห่วงโซ่การผลิตที่เกษตรกรต้องรับภาระ นอกเหนือจากต้นทุนพลังงานและปัจจัยการผลิตที่เพิ่มในอัตราที่ใกล้เคียงกันเฉลี่ยประมาณ 20-30%
จากปี 2565-ปัจจุบัน ผู้เลี้ยงหมูอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะนอกจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์แล้ว ยังเจอปัญหา “หมูเถื่อน” ที่ลักลอบเข้าไทยมาทุกทิศทุกทาง แม้กรมปศุสัตว์ร่วมมือกับตำรวจและทหารจับและทำลายของกลางซากหมูไปมากกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ก็ตาม แต่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรยืนยันว่านั่นเป็นเพียงแค่ 5% ของหมูที่ลักลอบทั้งหมด ภาครัฐต้องปราบปรามอย่างจริงจังให้หมดภายในปีนี้ เพื่อให้สถานการณ์การผลิตกลับสู่ภาวะปกติ 18 ล้านตัว ในปี 2567 ตามเป้าหมายของกรมปศุสัตว์
ล่าสุด กรรมการสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ย้ำว่าเกษตรกรกำลังประสบปัญหาแบกรับต้นทุนการผลิตสูง ขณะที่ราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำเหลือเพียง กก.ละ 80 บาท และมีแนวโน้มดิ่งต่ำลงอีก ถึง 70 บาท ต่อ กก. จากการลักลอบนำเนื้อสุกรกล่องจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งปี 2565 ของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ที่ 94.79 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านนายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล ที่ปรึกษาสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ย้ำขณะนี้ผู้เลี้ยงไก่เนื้อกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยต้นทุนการเลี้ยงไก่ปีนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับต้นทุนปี 2565 ที่ 42-43 บาท เนื่องจากราคาอาหารสัตว์ปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกันมา 2 เดือนแล้ว
เห็นชัดว่าผู้เลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงไก่ และผู้เลี้ยงไก่ไข่ ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเร่งด่วนร่วมกันในเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูต้องการให้มีการปราบปรามหมูเถื่อนควบคู่กันไปด้วย ให้ต้นทุนกับราคาที่ขายได้เหมาะสมพอมีกำไรเลี้ยงครอบครัวได้ และผู้บริโภคเข้าถึงอาหารโปรตีนดังกล่าวได้ในราคาที่สมเหตุผล ซึ่งภาครัฐต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายและกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่ตรงกับความการของทุกภาคส่วน เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนของคนไทย