ดับฝัน 2 ค่ายยักษ์ข้ามชาติ ตั้งโรงงานปู่ย่าพันธุ์ หวั่นทุบราคาไข่ร่วง
เอ้กบอร์ด ดับฝัน 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จาก “อเมริกา-เยอรมัน” ขอตั้ง รง. ผลิตปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ขายเพื่อนบ้าน “สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว” โผล่ขอแบ่งโควตาพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ 4 พันตัว หลังแผนนำเข้าปี 66 ยังคงเป้าเดิม 3 ปีซ้อน วัตถุดิบอาหารสัตว์คาดปรับสูงต่อเนื่องถึง Q1 ปีหน้า
ปี 2563 คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด ได้มีมติ (27 ม.ค.63) ให้ตั้งคณะทำงานศึกษาลกระทบการตั้งฐานการผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ในประเทศไทย หลัง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท Hy-line International จากสหรัฐอเมริกา และบริษัท Lohmann Tierzuchi GmbH จากเยอรมนี จะขอตั้งโรงงานผลิตปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (หรือ GP ซึ่งเป็นต้นทางของการผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ หรือ PS ในไทย) เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในเวียดนาม ลาว และกัมพูชานั้น
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการที่ปรึกษาเอ้กบอร์ด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุม (10 พ.ย.65) รายงานว่า เอ้กบอร์ด ไม่อนุมัติให้ทั้ง 2 บริษัทข้างต้นตั้งโรงงานผลิตปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ในประเทศเพื่อสร้างฐานการผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ส่งออกไปขายเวียดนาม ลาว และกัมพูชา จากเกรงว่า ผลผลิตจะเล็ดลอดตลาดในประเทศ และจะกระทบผลผลิตไข่ไก่และราคาไข่ไก่ในประเทศ
ปัจจุบันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ จากสถานการณ์ไข่ไก่มีการสะสมในระบบมากขึ้นส่งผลให้แนวโน้มราคาไขไก่ปรับลดลง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนจากต้นทุนที่แนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับแนวโน้มของราคาไข่ไก่ กรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืนกรง ปลดแม่ไก่ตามอายุที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ดังนี้
1.ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย ปลดไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงตํ่ากว่า 3 หมื่นตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้เลี้ยงรายใหญ่ขนาด การเลี้ยงตั้งแต่ 1 แสนตัว ขึ้นไป
2. ปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565 และขอควารมร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์ 16 ราย ผลักดันการส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน 80 ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อคงตลาดส่งออกและรักษาระดับราคาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยอยู่ได้
“ผลการดำเนินงาน (ก.ย.-ต.ค. 2565 เป้าหมาย 71.51 ล้านฟอง ณ วันที่ 31 ต.ค.65) มีการเก็บรวบรวมไข่ไก่เพื่อการส่งออก จำนวนกว่า 29 ล้านฟอง ปลดไก่ก่อนกำหนด 1.6 ล้านตัว (เทียบเท่าส่งออกไข่ไก่กว่า 33 ล้านฟอง รวมดำเนินการแล้วกว่า 63 ล้านฟอง คิดเป็น 88.11 % ของเป้าหมาย”
อย่างไรก็ดี แผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS ) ปี 2566 ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) จำนวน 3,800 ตัว และไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 4.4 แสนตัว แนวทางการจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ จำนวน 16 บริษัท เท่ากับปี 2565 และ 2564) ซึ่งโควตานี้หากย้อนกลับไปจะใช้ 3 ปีซ้อนเพื่อควบคุมปริมาณไข่ไก่ในประเทศ ในปี 2566 ลำดับ 3 สูงสุด ได้แก่
1.บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำนวน 1.16 แสนตัว 2.บจก.อาหารเบทเทอร์ 72,840 และ 3.บจก.อรรณพฟาร์มบ้านนา 64,000 ตัว เป็น ส่วนโควตา GP อนุญาตรายเดียว บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำนวน 3,800 ส่วน “สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด” ขอนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ ปี 2566 จำนวน 4,000 ตัว ซึ่งได้ให้ไปทำแผน/โครงการเข้ามาเสนอเพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง
ด้านแหล่งข่าวสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยถึงสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการเลี้ยงไก่ ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มเข้าสู่ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด ราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลงงเล็กน้อย ราคารับซื้อเดือนตุลาคมอยู่ที่ประมาณ 12-12.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่วนสำหรับวัตถุดิบทดแทน อาทิ ข้าวสาลี ราคาทรงตัวสูง เนื่องจากเงินบาทยังอ่อนค่า, กากถั่วเหลืองนำเข้า ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่า และภัยแล้งในประเทศผู้ผลิตหลักมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกหากจีนกลับมารับซื้อผลผลิต เช่นเดียวกับปลาป่นปริมาณปลาน้อย ราคาปรับสูงขึ้น
สถานการณ์นำเข้าวัตถุดิบ ปริมาณข้าวโพด ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน (นำเข้าได้แค่ กุมภาพันธ์-สิงหาคม) มีการนำเข้าข้าวโพดชายแดน และ WTO รวม 1.47 ล้านตัน น้อยลงจากปี 2564 ที่มีการนำเข้า1.83 ล้านตัน เช่นเดียวกับ ปริมาณนำเข้าข้าวสาลี ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน นำเข้า 2.99 แสนตัน
ในขณะที่ทั้งปี 2564 มีการนำเข้า 1.26 ล้านตัน , ปริมาณการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน นำเข้า 89,924 ตัน ในขณะที่ทั้งปี2564 มีการนำเข้า 7.55 แสนตัน ทั้งนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์หันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ ปลายข้าว กากมันสำปะหลัง มันเส้นเป็นต้น
ปัจจุบันราคาวัตถุดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยหลักจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและภัยแล้งจากประเทศปลูกหลัก เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา และการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ทำให้ราคาวัตถุดิบจะปรับสูงต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกของปี 2566
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,836 วันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2565