เงินเฟ้อก.ย. เริ่มแผ่วเหลือ 6.41% แต่ ‘หมู-ไก่-ไข่-ผักสด-ผลไม้’ ยังแพง
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ ก.ย. แผ่วเหลือ 6.41% หลังต้นทุน ‘ผลิต-ขนส่ง’ ในประเทศลดลงตามราคาน้ำมัน คาดทั้งปี 5.5-6.5%
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน
เงินเฟ้อก.ย.เริ่มแผ่ว – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือนก.ย. 2565 ว่า เท่ากับ 107.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 101.21 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 6.41% ชะลอตัวลงจากเดือนส.ค. 2565 ซึ่งอยู่ที่ 7.86% ตามการชะลอตัวของราคาพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหาร รวมทั้งฐานเงินเฟ้อ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันปีก่อนอยู่ระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่ผ่านมา จากการทยอยปรับราคาในช่วงก่อนหน้า และพื้นที่เกษตรน้ำท่วม แต่อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้เงินเฟ้อชะลอลง

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ยังขยายตัวอยู่ที่ 6.41% เนื่องจากสินค้ากลุ่มพลังงาน ขยายตัว 16.10% ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังคงสูงขึ้นจากช่วงเดือนเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เช่น ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน แชมพู ค่าโดยสารสาธารณะ การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เช่น บุหรี่ เบียร์ สุรา ยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 4.10%

แต่ทั้งนี้ ยังมีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ แป้งผัดหน้า น้ำยารีดผ้า ค่าส่งพัสดุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า เป็นต้น

ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด ขยายตัว 10.97% จากราคาสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ผักสดและผลไม้ พริกสด ผักคะน้า กะหล่ำปลี ส้มเขียวหวาน แตงโม มะม่วง
นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเครื่องประกอบอาหาร ราคาเริ่มชะลอตัว แต่ยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน ประกอบกับพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตร ทั้งพืชผักและปศุสัตว์ประสบปัญหาจากฝนตกชุกและน้ำท่วมขัง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น ทำให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 9.82%

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนม.ค.-ก.ย. ปี 2565 ว่า เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 6.17% ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ปี 2565 คาดว่าชะลอตัวลง ตามต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ภายในประเทศ ที่ลดลงจากราคาน้ำมันดิบและอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง และมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่อาจจะมีเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6.5% ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 จากระดับ 46.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และเงินบาทที่อ่อนค่าลง

 

About Author