​กรมปศุสัตว์ ร่วมมือภาคเอกชน แก้ไข่ไก่ล้นตลาด พยุงราคาช่วยเกษตกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย

08 ก.ค. 2565 | 09:38:47
นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยได้ร้องเรียนว่าเกิดปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เดือดร้อน เนื่องจากราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำลง โดยพบว่าราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มต่ำกว่า 2.80 บาทต่อฟองในหลายพื้นที่ สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งค่าอาหารสัตว์และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน เฉลี่ยอยู่ที่ 3.02 บาทต่อฟอง ในเดือนมิถุนายน 2565 และได้ร้องขอให้กรมปศุสัตว์เร่งรัดผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ดำเนินกิจกรรมเพื่อพยุงราคาไข่ไก่ในตลาดภายในประเทศนั้น

กรมปศุสัตว์ได้มีการประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตไข่ไก่ ทั้งรายเล็ก รายกลางและรายใหญ่ พบว่าปัญหาดังกล่าวมีเหตุจากในช่วงที่ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เลี้ยงไก่ไข่บางส่วนมีการลดการปลดไก่ไข่ลงจนกำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากร่วมกับภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

จึงได้มีการกำหนดมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ประกอบด้วย 1) มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการเร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงตามอายุที่เหมาะสม ไม่เกิน 80 สัปดาห์ และ 2) มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ (PS) จำนวน 16 ร่วมกันผลักดันไข่ไก่ส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนดทดแทน เป้าหมายเพื่อลดปริมาณไข่ไก่ภายในประเทศจำนวน 58 ล้านฟอง ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2565

ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการลดปริมาณไข่ไก่ในตลาดภายในประเทศแล้วจำนวน 40.34 ล้านฟอง คิดเป็นร้อยละ 68.94 พบว่าจากผลการดำเนินการดังกล่าว ประกอบกับการปลดไก่ไข่ยืนกรงอายุเกินอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการ ส่งผลให้สถานการณ์ไข่ไก่ล้นตลาดเริ่มคลี่คลาย กระทั่งสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายแห่งมีการประกาศราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 3.20 บาทต่อฟอง จึงขอขอบคุณความร่วมมือของผู้ผลิตไข่ไก่และผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ที่เข้าร่วมกิจกรรมรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่จนสถานการณ์ไข่ไก่ล้นตลาดเริ่มคลี่คลาย และปริมาณการผลิต – การบริโภคเริ่มกลับสู่สมดุลอีกครั้ง

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะและประสานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนมาตรการให้มีความเหมาะสม ตามนโยบาย “ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนและเกษตรกรต้องอยู่ได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป

About Author