สุดว้าว! AI ตรวจจับ “ความทุกข์” ของไก่ในฟาร์มจากเสียงขัน
เผยแพร่
นักวิจัยพัฒนา AI จำแนกเสียงขัน ตรวจจับ “ความทุกข์” ของไก่ในฟาร์ม ช่วยเกษตรกรยกระดับคุณภาพชีวิตไก่
“ไก่” ถือเป็นหนึ่งในปศุสัตว์สำคัญที่ช่วยเลี้ยงปากท้องของคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นไก่ไข่หรือไก่เนื้อ โดยในแต่ละปี มีการเลี้ยงไก่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านตัวทั่วโลก
หลายคนเชื่อว่า ในการเลี้ยงไก่ เรื่องของ “ความสุข” เป็นปัจจัยสำคัญ โดยหากไก่อารมณฺมีความสุข ก็จะมีอายุยืนกว่า และที่สำคัญคือจะให้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพกว่าไก่ที่มีความทุกข์
ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิจัยวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่สามารถตรวจจับและวัดระดับ “ความทุกข์” ของไก่ในฟาร์มที่เป็นโรงเรือนในร่มขนาดใหญ่ได้ โดยแยกความแตกต่างระหว่างเสียงร้องแห่งความทุกข์จากเสียงรบกวนอื่น ๆ ในโรงเรือนได้อย่างถูกต้องแม่นยำถึง 97%
นักวิจัยสหรัฐ เผย AI ช่วยหมอผิวหนังวินิจฉัยโรคแม่นขึ้น
นักวิจัยกล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่สามารถยกระดับ “สวัสดิภาพของไก่ในฟาร์ม” ได้โดยการฟังเสียงร้องเสียงขันของพวกมันนั้น จะสามารถนำมาใช้งานจริงได้ภายใน 5 ปี และบอกว่า ในอนาคต อาจต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนมาตรฐานสวัสดิภาพปศุสัตว์อื่น ๆ ได้อีกด้วย
อลัน แม็กเอลลิก็อต รองศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์จาก City University of Hong Kong กล่าวว่า “โดยทั่วไป แม้แต่หูของคนที่ไม่ได้รับการฝึกฝน ก็สามารถแยกเสียงไก่ที่กำลังเป็นทุกข์ออกมาได้”
เขาบอกว่า ตามทฤษฎีแล้ว เกษตรกรสามารถจำแนกเสียงร้องของไก่เพื่อวัดระดับความทุกข์ของพวกมัน และยกระดับที่อยู่อาศัยของพวกมันได้ อย่างไรก็ตาม ในฟาร์มไก่เชิงพาณิชย์ที่มีไก่หลายพันตัวหรือหลายหมื่นตัว การใช้แต่หูของเกษตรกรในการจำแนกเสียงนับพันนับหมื่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ทีมวิจัยของเขาจึงได้พัฒนาเครื่องมือ AI เพื่อตรวจจับเสียงขันร้องทุกข์ของไก่โดยอัตโนมัติขึ้นมา โดยเครื่องมือนี้ได้รับการฝึกฝนโดยใช้เสียงไก่ที่ได้รับการจัดประเภทโดยผู้เชี่ยวชาญของมนุษย์แล้ว เพื่อกำหนดประเภทของเสียง ว่าเสียงแบบไหนคือไก่อารมณ์ดี และเสียงแบบไหนคือไก่กำลังเป็นทุกข์
จากการประเมิน AI ที่พัฒนาขึ้นนี้มีความแม่นยำถึง 97% ในการจำแนกเสียงขันของไก่ที่กำลังมีความทุกข์
แม็กเอลลิก๊อตประมาณการว่า เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงภายใน 5 ปี “เป้าหมายสุดท้ายของเราไม่ใช่แค่การจำแนกเสียงขันที่มีความทุกข์ แต่เพื่อสร้างเงื่อนไขที่ไก่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยมีความทุกข์น้อยลง”
ก่อนหน้านั้น ทีมงานจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า อุปกรณ์บันทึกสามารถทำงานในโรงเลี้ยงไก่ประเภทต่าง ๆ ได้โดยไม่แตกต่าง รวมทั้งต้องนำไปทดสอบในฟาร์มที่มีมาตรฐานสวัสดิการสูงและต่ำจำนวนมาก เพื่อยืนยันความแม่นยำของเทคโนโลยี
แม็กเอลลิก็อตยังบอกอีกว่า การชักชวนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อาจจะค่อนข้างง่าย เพราะงานวิจัยอีกชิ้นก่อนหน้านี้ของเขาพบว่า เสียงขันของลูกเจี๊ยบสามารถทำนายน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและจำนวนลูกเจี๊ยบในฝูงที่จะเสียชีวิตได้
“บางครั้ง เป็นการยากที่จะโน้มน้าวเกษตรกรที่ต้องควบคุมต้นทุนในการเสี้ยงปศุสัตว์เหล่านี้เพื่อขายในราคาที่ถูกกำหนดสำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดต่าง ๆ ให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพของไก่ที่เลี้ยง แต่เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เสียงขันเป็นตัวบ่งชี้อัตราการตายและอัตราการเติบโตของไก่ได้อย่างดี และเทคโนโลยีของเราคือวิธีการทำให้กระบวนการตรวจสอบเสียงขันของไก่เป็นไปโดยอัตโนมัติ” แม็กเอลลิก็อตกล่าว
เขาเสริมว่า เทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันสามารถพัฒนาเพื่อตรวจสอบปศุสัตว์อื่น ๆ โดยเฉพาะหมูหรือไก่งวงได้ด้วย