“วิกฤตอาหารโลก” กำลังเป็นกระแสก่อตัวสร้างความวิตกกังวลในหลายประเทศ จากสาเหตุหลักที่เราท่านทราบกันดี คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปี ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อนานกว่า 3 เดือน ยิ่งซ้ำเติมความเป็นอยู่ของประชากรโลกรอบด้าน ทั้งราคาพลังงานและราคาอาหาร หลัง 30 ประเทศทั่วโลก ระงับการส่งออกทั้งวัตถุดิบอาหารและอาหารแล้วหลายรายการ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำตาล เนื้อไก่ ฯลฯ และคาดว่าจะหยุดส่งออกยาวไปจนถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยราคาอาหารปรับขึ้นมากกว่า 20% นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ขยับขึ้นกว่า 30% กลายเป็นข้อกังวลของทั่วโลกในขณะนี้

สำหรับประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำอย่างไทย ที่ครองแชมป์ส่งออกอาหารติดอันดับโลกหลายสมัยอย่างเช่น ข้าว กุ้ง ไก่เนื้อ สับปะรด เป็นต้น แม้จะมีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศจนเหลือส่งออก รวมถึงยังเป็นแหล่งผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของโลก ทำให้คนไทยมีอาหารทางเลือกมากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ไทยก็ยังจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอุปทานอย่างระมัดระวังในช่วงเวลาที่ความต้องการอาหารและราคาทะยานขึ้นสูงเช่นนี้

สำคัญสุดเวลานี้ คือ “กินที่มี” หลายคนคงไม่เคยทราบเลยว่า คนไทยได้บริโภคเนื้อไก่มาตรฐานส่งออกหรือมาตรฐานโลก และปลอดภัยได้การยอมรับในระดับสากล เนื้อไก่ยังเป็นโปรตีนคุณภาพสูงและย่อยง่าย ราคาถูกกว่าเนื้อวัวและเนื้อสุกร อีกหนึ่งทางเลือกในช่วงที่เนื้อสัตว์อื่นราคาสูง มากไปกว่านั้น คือ ไทยผลิตได้ “เหลือกิน” และส่งออกจนขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีการผลิตไก่เนื้อประมาณ 2.9 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคในประเทศอยู่ที่ 1.96 ล้านตัน และบริโภคเฉลี่ย 21 กก./คน/ปี เหลือส่งออกประมาณ 933,000 ตัน นำเงินตราเข้าประเทศมากกว่า 1.08 แสนล้านบาท โดยในปีนี้คาดการณ์ว่าการผลิตจะอยู่ที่ 2.93 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.99 ล้านตัน เห็นได้ว่าเนื้อไก่เป็นตัวเลือกทดแทนเนื้อสัตว์อื่นๆ ได้ในยามนี้

ก่อนหน้านี้ นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ย้ำว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ตั้งใจบริหารจัดการฟาร์มและการเลี้ยงเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารโปรตีนให้กับคนไทยได้เข้าถึงเนื้อไก่ในราคาสมเหตุผล โดยราคาจำหน่ายในตลาดสดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 อกไก่ อยู่ที่ 95 บาท/กก. น่องไก่ 65-75 บาท/กก. และปีกไก่เต็ม 85 บาท/กก.

นอกจากนี้ ไข่ไก่ เป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่ได้รับความนิยมในทุกประเทศ ที่สำคัญที่คนไทยเข้าถึงได้ง่ายที่สุดและราคาถูกที่สุด ซึ่งไข่ไก่ 1 ฟอง อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งโปรตีนที่ดีมีกรดอะมิโนครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ไขมันอิ่มตัว วิตามินเอ วิตามินบี1, บี2, บี3, บี6 และ บี12 เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยให้พลังงานแก่เซลล์ในร่างกาย

ในช่วงเวลานี้ ที่สงครามส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทุกสินค้า ไข่ไก่ ก็จำเป็นต้องปรับราคาบ้างให้เกษตรกรประคองธุรกิจไปได้ ผู้บริโภคมีแหล่งโปรตีนในราคาที่เข้าถึงได้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปัจจุบันราคาไข่คละหน้าฟาร์มของไทยอยู่ที่ 3.50 บาทต่อฟอง หากย้อนไปสถิติราคาเมื่อ 20 ปีก่อน พบว่าราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.20 บาท ผ่านไป 20 ปี ราคาปรับเพิ่มเพียง 1 บาท เท่านั้น เทียบกับราคาสินค้าอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น น้ำมันพืชราคา 25 บาท/ขวด 1 ลิตร ปรับขึ้นเป็น 70 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินจาก 15 บาท/ลิตร เป็น 52 บาท เห็นได้ว่าส่วนต่างการปรับเพิ่มของราคาต่างกันมาก ไข่จึงเป็น “อาหารมวลชน” อย่างแท้จริง

ด้านสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ก่อนหน้านี้ ย้ำว่า ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประเมินโดยคณะอนุกรรมการต้นทุนไข่ไก่อยู่ที่ 3.02 บาท/ฟอง แต่ต้นทุนดังกล่าวอาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบันทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และต้นทุนพลังงานปรับสูงขึ้นเนื่องจากภาวะสงครามและโรคโควิด-19 ซึ่งทางสมาคมฯ พยายามตรึงราคาไข่ไก่ให้ได้มากที่สุดและนานที่สุด เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้และผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมากเกินไป

ในช่วงเวลาเศรษฐกิจขาลง อัตราเงินเฟ้อของประเทศสูง ทั้งเนื้อไก่และไข่ไก่ ล้วนเป็นโปรตีนที่ไทยสามารถผลิตได้โดยไม่ขาดแคลน และเป็นราคาที่สามารถช่วยแบ่งเบาค่าครองชีพของคนไทยได้ดี เพียงแต่ภาครัฐต้องบริหารจัดการให้ราคาสินค้าอาหารเป็นไปตามกลไกตลาด แทนการคุมราคา เพื่อสนับสนุนการผลิตให้อาหารป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรและผู้ประกอบการคงไม่สามารถเดินทำการผลิตได้ต่อเนื่องหากต้องประสบปัญหาขาดทุนโดยเฉพาะจากมาตรการของรัฐ

โดย : ศิระ มุ่งมะโน

About Author