ปศุสัตว์ เล็งออกมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่รุ่น
ปศุสัตว์ร่วมระดมความเห็นร่างมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่รุ่น ยกระดับการผลิตไข่ไก่ตลอดห่วงโซ่ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมเพิ่มศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดในการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่รุ่น ว่า กรมปศุสัตว์มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต และกำกับดูแลกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัยต่อผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่กระบวนการผลิต ครอบคลุมตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้มาตรฐาน โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปมีคุณภาพและถูกสุขอนามัย จนถึงผู้บริโภค
ซึ่งไข่ไก่นับเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่มีความสำคัญ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ผู้บริโภคนิยมนำมาปรุงประกอบการทำอาหารเพื่อรับประทานได้ทุกวัน และอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ในประเทศไทยมีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพมาตรฐานตอบสนองความต้องการอย่างเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศและสามารถส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ประเทศไทย
ปัจจุบันการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยมีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงในลักษณะเชิงอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในระบบการผลิต การปรับปรุงสายพันธุ์ การจัดการอาหาร และการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไก่ไข่ที่เลี้ยงมีสุขภาพดี ได้ไข่ไก่ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในปี 2564 มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวนเฉลี่ย 50.9 ล้านตัว ผลิตไข่ไก่ถึง 15,420 ล้านฟอง นับเป็นมูลค่าสูงถึง 42,405 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของโลกส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการค้าของสินค้าเกษตรไทย ทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันทางการค้า จึงเป็นการดีที่จะมีนโยบายจัดทำมาตรฐานสินค้า เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรมีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ความสำคัญในการจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่รุ่น
มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเลี้ยงไก่ไข่รุ่น ลดความเสี่ยงและควบคุมปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากฟาร์มที่ยังไม่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อให้มีมาตรฐานสินค้าเกษตรครอบคลุมการผลิตไข่ไก่ตลอดห่วงโซ่การผลิต เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด ASEAN Economic Community (AEC) และต่างประเทศได้
ดำเกิง คำแหง นักวิชาการด้านปศุสัตว์ กล่าวว่า การเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพของเกษตรกรไทยมายาวนาน มีผู้เลี้ยงรายเล็กรายย่อยทั่วประเทศนับแสนคน ตลาดไข่ไก่เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรเกิดเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้มากมาย เช่น
สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ ไข่ไก่เป็นสินค้าเกษตรที่ระดับราคามีขึ้นมีลงจากปัจจัยหลากหลายที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลต่างๆ กินเจ ปิดเทอม อากาศร้อนแล้ง ภาวะโรค ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ … ไข่จึงเป็นสินค้าเกษตรที่อ่อนไหวมากหากมีผลผลิตออกสู่ตลาดเยอะราคาก็ตกต่ำเกษตรกรขาดทุน เมื่อไหร่ที่เกษตรกรขาดทุนหนัก และเลี้ยงลดลง ปริมาณไข่ในตลาดน้อยลงราคาก็กลับมาดี เป็นแบบนี้ตามกลไกตลาดเสมอ
กรมปศุสัตว์ เป็นภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคนเลี้ยงไก่ไข่ และกรมปศุสัตว์ในยุคปัจจุบันก็ได้ชื่อว่าเป็นยุคที่ทำงานถึงลูกถึงคนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆอย่างทันการณ์เพื่อให้ไข่ไก่เกิดเสถียรภาพ มีการวางแผนการผลิต ตั้งแต่ต้นทางคือการควบคุมปริมาณปู่ย่าพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ ไปจนถึงลูกไก่ และแม่ไก่ยืนกรง เพื่อให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่สมดุลกับปริมาณการบริโภคให้มากที่สุด อันจะนำไปสู่ราคาไข่ไก่ที่เหมาะสม เกษตรกรอยู่ได้และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน
กรมฯยังทำหน้าที่ยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ให้เกษตรกรมีมาตรฐานการผลิตไข่ที่ดีและมีระบบป้องกันโรคที่ดี เมื่อผนวกความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจของคนในแวดวงเดียวกันก็ทำให้ทุกวันนี้วงการไก่ไข่มีเสถียรภาพมากขึ้นและมีแนวโน้มที่ดีที่จะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ทั้งๆที่เป็นงานยาก เพราะไข่ไก่เป็นสินค้าอ่อนไหวที่เมื่อมีอะไรมากระทบเล็กน้อยก็สามารถล้นตลาดหรือขาดตลาดได้ทันที
ความเสียสละของผู้เลี้ยงไก่ไข่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึง ในยามที่คนเลี้ยงไก่ไข่ทั้งหมดบอบช้ำจากราคาไข่ตกต่ำติดดินเพราะผลผลิตล้นตลาด กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในขณะนั้น ให้ช่วยปลดพ่อแม่พันธุ์ก่อนอายุปลด ซึ่งก็ได้เห็นผู้เสียสละหลายรายเฉือนเนื้อตัวเอง ปลดพ่อแม่พันธุ์และส่งออกไข่ไก่ รวมเป็นมูลค่าถึงร้อยล้านบาท เพื่อยกระดับราคาไข่ไก่ให้สูงขึ้น เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและต่อชีวิตเกษตรกรรายเล็กรายน้อย… นี่คือความช่วยเหลือกันในวงการไข่ไก่ที่ผมเคยเห็น
ผู้คร่ำหวอดของวงการไข่ไก่ เล่าเหตุการณ์ย้อนรอยอดีตให้ฟังว่า เดิมประเทศไทยปล่อยเสรีพ่อแม่พันธุ์ (PS) ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิต 23 ราย ต่อมาไข่ล้นตลาด ทำให้ธุรกิจไก่ไข่ตกต่ำมาก บริษัทพ่อแม่พันธุ์ล้มหายตายจากไปบางส่วน เหลืออยู่เพียง 16 ราย เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงขอร้องให้ “กรมปศุสัตว์” ลดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ เพื่อหยุดซัพพลายที่มากเกินไป เป็นที่มาของการที่กรมปฏิบัติตามคำขอของเกษตรกร จำกัดบริษัทที่เหลือ 16 รายไม่ให้มีเพิ่มขึ้น ตามคำขอนั้น จากจำนวนพ่อแม่พันธุ์ตอนนั้น (2560) มีอยู่ราว 6 แสนตัว 16 บริษัทจึงเริ่มต้นทำกิจกรรมลดแม่ไก่เป็นขั้นบันได
คือให้เหลือ 5.5 แสนตัวในปี 2561 และเหลือ 4.4 แสนตัวในปี 2562 ทุกบริษัทลดในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน ดังนั้น ใครมีแม่ไก่จำนวนมากก็ต้องเสียสละปลดมาก เป็นต้น นับเป็นครั้งสำคัญที่ได้เห็น 16 บริษัท ร่วมมือร่วมใจกันทำเพื่อเกษตรกรและเพื่อส่วนรวมของวงการไก่ไข่ เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมปศุสัตว์ ซึ่งทุกรายเป็นผู้ปฏิบัติ หรือกล่าวได้ว่า จำนวนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ถูกกำหนดโดยเอ้กบอร์ด นักวิชาการ และผู้รู้ที่เกี่ยวข้อง ทำการประเมินและคำนวณมาแล้วว่าความเหมาะสมอยู่ที่เท่าไหร่ กระทั่งได้เริ่มเห็นผลสัมฤทธิ์ในปีนี้ที่ราคาไข่มีเสถียรภาพมากขึ้น
ปัจจุบันการเปิดฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม เพียงมีต้องเสนอแผนการผลิตและมีตลาดรองรับผลผลิตที่ชัดเจนว่าจะไม่ส่งผลกระทบถึงระดับราคาไข่ไก่โดยรวมของประเทศ เท่านี้ก็สามารถเปิดได้แล้ว … เอ้กบอร์ด (คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์-Egg Board) เป็นกลางและยึดหลักความยั่งยืนของทั้งอุตสาหกรรมเสมอ
สำหรับประเด็นปู่ย่าพันธุ์ (GP) นั้นเปรียบเหมือนความมั่นคงทางอาหารในด้านพันธุ์ไก่ของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก หากประเทศใดไม่มีฟาร์ม GP ย่อมต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศตลอดเวลา ซึ่งมีความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ โรคระบาดสัตว์ ปัญหาสงคราม หรือการขนส่ง ย่อมกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศทันที โชคดีที่ประเทศไทยมีปู่ย่าพันธุ์อยู่ภายในประเทศ ซึ่งจำนวนที่ผลิตก็เป็นไปตามข้อกำหนดของเอ้กบอร์ด
คงต้องขอเป็นกำลังใจให้ “กรมปศุสัตว์” ที่นอกจากจะต้องจัดการปัญหาเสถียรภาพราคาไข่ไก่แล้ว ยังต้องรับมือผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายรูปแบบ โดยเฉพาะ “คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน” ที่เมื่อตอนคนอื่นเสียสละกลับอยู่เฉย แต่พอภาวะไข่ดีขึ้นกลับออกมาเรียกร้องจากสังคม ขอให้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่ของตนเองต่อไป ดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในองค์รวมให้ได้ประกอบอาชีพที่ดี และผลิตไข่เพื่อผู้บริโภคไทยได้อย่างยั่งยืน