4 องค์กรเกษตรกร กัดฟันตรึงราคาไข่ ฟองละ 3.50 บาท

ไข่ไก่

4 องค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ กัดฟันตรึงราคาไข่ฟองละ 3.50 บาท แม้ต้นทุนพุ่ง หวังเปิดเทอม-นักท่องเที่ยวหนุนบริโภคเพิ่ม วอนรัฐช่วยขยายเวลาปลดล็อกนำเข้าข้าวสาลี จาก 3 เดือน เป็น 1 ปี

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาประกาศไข่ไก่ของ 4 องค์กรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรีจำกัด สหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี จำกัด และชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่- ลำพูน ยังคงมีระดับเดียวกันที่ฟองละ 3.50 บาททั่วประเทศ โดยร่วมกันรักษาระดับราคาเพื่อผู้บริโภค ด้วยเข้าใจสถานการณ์ และสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้ต้นทุนการผลิตไข่ยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง

“ปกติวัฏจักรราคาไข่ในช่วงเปิดเทอมจะเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการบริโภคไข่ไก่สูงขึ้น ระดับราคาจะขยับขึ้นเล็กน้อยตามหลักซัพพลาย-ดีมานด์ แต่ทั้ง 4 องค์กรยังคงรักษาระดับราคาไข่คละหน้าฟาร์มเพื่อผู้บริโภค ด้วยเข้าใจในสภาวะเศรษฐกิจ แม้เกษตรกรยังเผชิญความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยับขึ้นเรื่อยมาโดยไม่มีทีท่าจะหยุดหรือลดลง” นางพเยาว์กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท ขณะที่สงครามรัสเซีย- ยูเครนที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากราคาเฉลี่ยปี 2564 ที่ 10.05 บาท/กก. ขึ้นมาเป็น 13.05 บาท/กก.ในปัจจุบัน หรือ สูงขึ้นอีกราว 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ขยับขึ้นตามไปด้วย

“เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ยังคงอยู่ในภาวะยากลำบากและมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนได้ตลอดเวลา เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบ“

ขณะที่มาตรการภาครัฐต่อการแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ยังไม่เอื้อมากนัก โดยเฉพาะประเด็นมาตรการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศที่ผ่อนปรนให้นำเข้าได้ 600,000 ตัน อัตราภาษี 0% นั้น ถูกจำกัดเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2565 รวม 3 เดือนนับเป็นช่วงเวลาที่น้อยเกินไป ไม่เกิดประโยชน์ ควรขยายเป็นมากกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้ผู้นำเข้าจัดซื้อ และหาเรือขนส่งสินค้าได้ทัน รวมถึงยังมีปัญหาเงินบาทอ่อนค่ามาแตะที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าแพงขึ้นไปอีก

นางพเยาว์กล่าวอีกว่า ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ขอให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศอดทนกับสถานการณ์ดังกล่าว และพยายามหาทางลดต้นทุนด้วยการดูแลเอาใจใส่การเลี้ยงไก่ไข่ในฟาร์มของตนอย่างใกล้ชิด ใช้อาหารทุกเม็ดอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าหลังเปิดเทอม และการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว จะมีแรงหนุนอัตราบริโภคให้มีทิศทางที่ดีขึ้น ก็จะลดความเสี่ยงด้านการขาดทุนของเกษตรกรลงได้

พร้อมทั้งขอให้ผู้บริโภคโปรดเข้าใจสถานการณ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกคนไม่อยากปรับราคาไข่ไก่หากไม่จำเป็น ขอเพียงให้เกษตรกรมีที่ยืนและสามารถประกอบอาชีพนี้เลี้ยงตัวต่อไปได้ก็พอ